top of page

แปะก๊วย (Ginkgo)


ในสมัยก่อน อาหารหรือขนมหวานที่มีเมล็ดแปะก๊วยเป็นส่วนประกอบ มักจะมีราคาแพงมาก และจะมีให้รับประทานกันในภัตตาคารอาหารจีนซะเป็นส่วนใหญ่ ถ้าทำรับประทานกันในครัวเรือนก็นิยมนำมาปรุงเป็นของหวานในเทศกาลวันตรุษจีน คือแปะก๊วยต้มน้ำตาล แปะก๊วยเชื่อม ซึ่งในสมัยก่อน การทำแปะก๊วยก็แสนจะลำบาก ต้องนำมาแกะเปลือก ลอกเยื่อออก ต้มให้สุกอีก แต่ในปัจจุบันนี้ จะมีแบบที่ทำสำเร็จแล้วมาขายตามตลาดทั่วไป ทำให้เรามีโอกาสได้ทานแปะก๊วยกันได้มากและสะดวกขึ้น ในราคาย่อมเยาอีกด้วย แปะก๊วย เป็นพืชสมุนไพรที่มีต้นกำเนิดจากทางตะวันออกของประเทศจีน (แถบภูเขาด้านตะวันตกของนครเซี่ยงไฮ้) ในภาษาอังกฤษ มีชื่อว่า "กิงโกะ" (Ginkgo) นิยมนำมาปรุงเป็นอาหารกันอย่างมากในแถบเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศจีน จะปรุงแปะก๊วยเป็นโจ๊กรับประทานในตอนเช้า และเป็นของหวานในงานวันสำคัญต่างๆเช่น วันแต่งงาน หรือวันขึ้นปีใหม่ สรรพคุณของแปะก๊วยนั้นมีมาก โดยเฉพาะในใบจะมีสูงกว่าในเมล็ด มีสารสำคัญคือฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ สารกินโกฟลาโวนไกลโคไซด์ (Ginkgo flavone glycoside) สารที่สกัดได้จากใบแปะก๊วยมีหลายชนิดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Free radical) ในบริเวณตา ป้องกันการ เกิดโรคเบาหวานขึ้นตาได้ เพิ่มการไหลเวียนของโลหิตไปสู่สมอง ปลายมือปลายเท้า ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง เพราะเมื่อสมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ย่อมเสื่อมสมรรถภาพและฝ่อไปในที่สุด ส่งผลต่อการทำงานและประสิทธิภาพของสมอง ทำให้เกิดการหลงลืมในผู้สูงอายุ หรือโรคความจำเสื่อม ที่เรียกว่า อัลไซเมอร์ (Alzheimer disease) ในปัจจุบันหลายๆ ประเทศได้ให้การยอมรับถึงสรรพคุณของใบแปะก๊วยในการรักษาโรคสมองเสื่อม โดยการนำสารสกัดจากใบแปะก๊วยมารวมกับสารอื่นๆซึ่งจะช่วยให้การดูดซับที่ผนังลำไส้เล็กดีขึ้น ทำให้ร่างกายสามารถนำเอาสารสกัดจากใบแปะก๊วยนี้มาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการนำสารสกัดดังกล่าวมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อบำรุงสมอง และช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ใช้รักษาโรคความจำเสื่อมโรคซึมเศร้า อาการหลงๆ ลืมๆ อันเนื่องมาจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอในผู้ป่วยสูงอายุ เมล็ดแปะก๊วยที่ใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารจีนหลากหลายชนิด มีสรรพคุณช่วยบำรุงสมอง ช่วยให้เลือดลมหมุนเวียนได้สะดวก

สารอาหารในแปะก๊วยแกะเปลือกแล้ว 100 กรัม ประกอบด้วยพลังงาน 191 กิโลแคลอรี น้ำ 53 กรัม โปรตีน 5.2 กรัม ไขมัน 1.9 กรัม คาร์โบไฮเดรต 38.3 กรัม ใยอาหาร 0.3 กรัม แคลเซียม 48 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 171 มิลลิกรัม เบต้าแคโรทีน 170 ไมโครกรัม วิตามินเอโดยรวม 28 RE ไนอาซิน 1.6 มิลลิกรัม

การเลือกซื้อแปะก๊วย ให้เลือกเมล็ดที่เปลือกนอกสีขาวนวล เมล็ดดูอวบอ้วน มีน้ำหนัก ถ้าซื้อแบบที่ต้มสำเร็จรูป เลือกเมล็ดอวบอ้วน ผิวไม่ปริแตก เนื้อสีขาวนวลแบบธรรมชาติ ถ้ามีสีเหลืองสวยเกินไป นั่นเพราะมีการใส่สี ซึ่งทานแล้วไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ ควรเลือกซื้อที่ต้มใหม่ๆเท่านั้น

แปะก๊วยนอกจากจะมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย แต่ก็มีโทษอยู่ด้วยหากใช้ในปริมาณมากเกินไป โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ไม่ควรรับประทานในปริมาณมากและติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไป เพราะมีผลไปขัดขวางการเกาะกันของเกร็ดเลือด ดังนั้นผู้ใช้ยาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด (Anti-Coagulants) เช่น ยา warfarin และคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดต้องระวังให้ดี อีกทั้งหากรับประทานสารสกัดแปะก๊วยมากเกินไปอาจมีผลข้างเคียงทำให้ ปวดศีรษะ, มึนงง, เวียนศีรษะ ทางเดินอาหารปั่นป่วน หรืออาจเกิดอาการแพ้ทางผิวหนัง, ระบบหายใจและหลอดเลือดผิดปกติ ง่วงซึม ระบบการนอนหลับก็ปั่นป่วนไปด้วย

วันนี้ได้รู้จักทั้งประโยชน์และโทษของแปะก๊วยกันไปเต็มๆแล้ว ส่วนคราวต่อไปจะเป็นเรื่องอะไร อย่าลืมติดตามนะคะ.

bottom of page